รู้จักโรคมะเร็ง

รู้จักโรคมะเร็ง

คนส่วนใหญ่มักรู้จักมะเร็งจากสื่อมวลชนว่า เป็นโรคน่ากลัว เพราะรักษาไม่ค่อยจะหาย ทำให้เสียชีวิตไม่ช้าก็เร็ว บางครั้งอาจทรมานก่อนตาย อย่างไรก็ดีโรคมะเร็งคืออะไรกันแน่

ในทางการแพทย์นั้นเราทราบกันว่า ร่างกายนั้นประกอบด้วยหน่วยย่อย ๆ ที่เรียกว่า เซลล์ แต่ละเซลล์ที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ กันมารวมกลุ่มกันเป็นอวัยวะ เช่น ตับ ไต สมอง เลือด เป็นต้น เซลล์แต่ละเซลล์ทำหน้าที่ของตนไประยะหนึ่งก็จะหมดอายุ สลายไป และทดแทนด้วยเซลล์ใหม่ตลอดเวลาด้วยจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากไป และไม่น้อยไป ร่างกายก็ดำเนินเป็นปกติ

เมื่อใดที่กลไกการสร้างเซลล์ทดแทนผิดปกติ มีการสร้างเซลล์ชนิดใดชนิดหนึ่งมากขึ้น และควบคุมไม่ได้เกิดเป็นก้อนผิดปกติขึ้นภายในอวัยวะหนึ่ง เราเรียกว่า เนื้องอก (tumor) การเกิดเป็นเนื้องอกนี้อาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือบางครั้งอาจจะแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น โดยทั่วไป เราเรียกเนื้องอกที่แพร่กระจายได้นั้นว่า มะเร็ง (cancer)

เมื่อใดที่กลไกการสร้างเซลล์ทดแทนผิดปกติ มีการสร้างเซลล์ชนิดใดชนิดหนึ่งมากขึ้น และควบคุมไม่ได้เกิดเป็นก้อนผิดปกติขึ้นภายในอวัยวะหนึ่ง เราเรียกว่า เนื้องอก (tumor) การเกิดเป็นเนื้องอกนี้อาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือบางครั้งอาจจะแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น โดยทั่วไป เราเรียกเนื้องอกที่แพร่กระจายได้นั้นว่า มะเร็ง (cancer) มะเร็งมีมากมายหลายชนิด ทางการแพทย์นั้นแบ่งชนิดตามอวัยวะที่เกิดมะเร็ง โดยอาศัยรูปร่างของเซลล์มะเร็งที่เห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ มะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ นั้นมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน แบ่งตัวเร็วไม่เท่ากัน วิธีการแพร่กระจายแตกต่างกัน โอกาสรักษาหายต่างกันมาก เช่นมะเร็งตับโอกาสรักษาหายน้อยมาก ในขณะที่มะเร็งของต่อมน้ำเหลืองบางชนิดรักษาหายได้แน่นอน ดังนั้นเมื่อพูดถึงมะเร็ง จำเป็นต้องระบุว่าเป็นมะเร็งชนิดใด

มะเร็งในเด็กไม่เหมือนมะเร็งในผู้ใหญ่

มะเร็งในเด็กต่างจากมะเร็งที่พบในผู้ใหญ่ แม้มะเร็งในอวัยวะเดียวกัน เช่นมะเร็งตับในเด็ก ก็เป็นคนละชนิดกับมะเร็งตับในผู้ใหญ่ การรักษาและโอกาสรักษาหายก็ต่างกันมาก

โดยทั่วไป เราสามารถกล่าวกได้ว่ามะเร็งในเด็กส่วนใหญ่มีโอกาสรักษาหายได้มากกว่ามะเร็ง ในผู้ใหญ่ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้รักษามะเร็งหายหรือไม่ คือชนิดของมะเร็งที่เป็น ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าเด็กเป็นมะเร็ง จะจำเป็นต้องทำการตรวจอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบว่าเป็นมะเร็งชนิดใด จึงอาจมีการตรวจหลายชนิด และอาจต้องใช้เวลารอผลการตรวจหลายวัน เมื่อรู้แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งชนิดใด แพทย์ก็จะสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับมะเร็งชนิดนั้น จึงจะมีโอกาสหายขาดมากที่สุด

เราพบว่ามะเร็งในเด็กหลายชนิดมักจะกระจายไปในร่างกายตั้งแต่แรกตรวจพบ แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ เพื่อให้ทราบว่ามะเร็งได้กระจายไปอวัยวะใดบ้าง เพื่อจะได้ติดตามโรคหลังเริ่มให้การรักษา การตรวจพบว่ามะเร็งกระจายไปแล้ว มิได้แปลว่าโอกาสหายขาดจะไม่มี โรคมะเร็งในเด็กหลายชนิดยังสามารถรักษาหายขาดได้อยู่ดี

รู้จักโรคมะเร็ง

การตรวจไขกระดูก (bone marrow aspiration) ไขกระดูกเป็นอวัยวะที่สร้างเลือด มะเร็งในเด็กหลายชนิดมักกระจายไปไขกระดูกตั้งแต่แรก ดังนั้นแพทย์มักเริ่มการตรวจหามะเร็งโดยการตรวจไขกระดูกเป็นสิ่งแรก มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นตรวจพบเพียงในไขกระดูกเท่านั้น การตรวจไขกระดูกนั้นทำโดยการทำความสะอาดปลอดเชื้อด้านหลังของเด็ก ใช้ยาชาระงับความรู้สึกเจ็บ แล้วใช้เข็มเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปในกระดูกเชิงกรานทางด้านหลัง ซึ่งเป็นกระดูกที่มีขนาดใหญ่ และอยู่ตื้นที่สุดในร่างกาย การตรวจไขกระดูกนั้นปลอดภัย มีอันตรายน้อย เมื่อให้ยาชาแล้วไม่เจ็บ แต่เด็กมักกลัวและร้องไห้เนื่องจากไม่ทราบว่าแพทย์ทำอะไรที่ด้านหลังของเขา หลังจากได้ไขกระดูกมาตรวจแล้ว แพทย์มักจะทราบผลในเวลา 1-2 วัน ในบางครั้งถ้าการตรวจไม่สำเร็จแพทย์อาจต้องทำการตรวจไขกระดูกด้วยอีกเทคนิค หนึ่ง ซึ่งต้องส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ใช้เวลา 1 สัปดาห์กว่าจะทราบผล

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ของสมอง ช่องท้อง หรือ ช่องอก การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อาจเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อแพทย์ต้องการตรวจหามะเร็ง ในตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มีก้อนในท้องหรือไม่ อยู่ตำแหน่งใด เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ถูกต้อง เช่น ก้อนนี้จะทำผ่าตัดได้หรือไม่ เป็นต้น การทำเอกซเรย์เช่นนี้ต้องการความร่วมมือของเด็ก จำเป็นต้องนัดวันที่จะทำล่วงหน้า บางครั้งเด็กเล็ก หรือเด็กที่ไม่ร่วมมือในการนอนนิ่ง ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องให้ยานอนหลับเสียก่อน นอกจากนี้การตรวจบางอย่างอาจจำเป็นต้องให้รับประทานหรือฉีดสารทึบแสง ระหว่างการเอกซเรย์เพื่อให้เห็นก้อนชัดเจนขึ้น แพทย์ผู้ทำการตรวจจะเป็นผู้แนะนำ

การตรวจกระดูกด้วย สารรังสี (bone scan) มะเร็งหลายชนิดกระจายไปที่กระดูกต่าง ๆ ของร่างกายโดยไม่มีอาการใดๆ การตรวจกระดูกด้วยสารรังสี สามารถทำให้ตรวจพบตำแหน่งที่มะเร็งกระจายไปในกระดูกได้โดยง่าย การตรวจนี้ก็ต้องนัดวันและเวลาตรวจ แพทย์จะฉีดสารรังสีปริมาณน้อย เข้าไป แล้วเมื่อถึงเวลาที่กำหนดจะนำเด็ก มานอนบนเตียงเพื่อถ่ายภาพรังสี หลังจากนั้นจะสามารถสรุปผลการตรวจในเวลา 1-2 วัน

รองศาสตราจารย์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อิศรางค์ นุชประยูร

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22 พ.ค. 2561, 20:15
4001