การฉายรังสี

รังสีรักษา (การฉายแสง) มีประโยชน์สำหรับมะเร็งในเด็กบางชนิด ช่วยทำให้อัตราการหายขาดเพิ่มขึ้น โดยมากมักใช้ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อหวังหายขาด การให้รังสีในเด็กจึงไม่เหมือนกับการรักษาโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ ซึ่งหลายคนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการฉายรังสีเพื่อหวังเพียงยืดเวลาเท่านั้น

ผลข้างเคียงของการฉายรังสีในเด็กเล็กจะมีมากกว่าในเด็กโตและผู้ใหญ่ กระดูกส่วนที่โดนรังสีจะหยุดการเจริญเติบโตอาจทำให้ไม่สูงเท่าที่ควร เมื่อเด็กโตเต็มที่แขนขาข้างที่ได้รับการฉายรังสีจะสั้นกว่าอีกข้างหนึ่ง การฉายรังสีที่สมองเพื่อรักษามะเร็งในสมองในเด็กเล็กจะทำให้สมองพัฒนาการช้า ดังนั้นแพทย์จะพยายามหลีกเลี่ยงการฉายรังสีในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 3 ปี แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จำเป็นต้องฉายรังสี โดยผู้ปกครองต้องชั่งน้ำหนักผลดีและผลเสียของรังสีต่อเด็ก

ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด acute lymphoblastic leukemia (ALL) อาจมีการฉายรังสีที่สมองเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมาในน้ำไขสันหลัง การฉายรังสีสำหรับโรคนี้จะให้รังสีปริมาณน้อย (1800 เซนติเกรย์) ก็ได้ผลดี และไม่มีผลเสียต่อสติปัญญาหรือความสูง

ส่วนการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งของสมองและระบบประสาท มักให้ขนาดสูงสุดที่ร่างกายจะทนได้ คือประมาณ 5000 เซนติเกรย์) การฉายรังสีมักให้วันละครั้ง ในปริมาณน้อยๆ (120-200 เซนติเกรย์) ติดต่อกัน 5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งหนึ่งๆ ใช้เวลาไม่นาน เพียง 5 นาที ดังนั้นหากบ้านอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลนัก เด็กอาจอยู่บ้านได้และเดินทางไป-กลับ เพื่อรับการฉายรังสีจนครบคอร์ส ซึ่งมักใช้เวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน

รองศาสตราจารย์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อิศรางค์ นุชประยูร

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22 พ.ค. 2561, 20:15
10445