ยาสมุนไพร และทางเลือกอื่นในการรักษาโรคมะเร็ง

ยาที่รักษามะเร็งได้มีมากมายหลายชนิด ยาบางอย่างค้นพบจากสารสกัดจากธรรมชาติ แล้วทำให้เป็นสารเคมีบริสุทธิ์ หรือปรับปรุงโมเลกุลโดยผ่านกระบวนการทางชีวเคมี ผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการทดลองทางคลินิก จึงได้ข้อสรุปว่าให้ขนาดเพียงใดจึงจะได้ผลดี เรียกกันว่ายาเคมีบำบัด

เป็นได้ว่ายังมีสารจากธรรมชาติอีกหลายชนิดที่อาจรักษามะเร็งได้ที่ยังค้นไม่พบ แยกเป็นสารบริสุทธิไม่สำเร็จ หรือยังไม่ผ่านกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แพทย์แผนปัจจุบันจึงยังมิได้ใช้ยาเหล่านี้ในการรักษามะเร็ง แต่อาจเป็นที่รู้จักโดยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ตำราหมอพื้นบ้าน ตำราสมุนไพร อาหารเสริม ชีวจิต พลังจักรวาล และพลังอื่น ๆ แพทย์แผนปัจจุบันเรียกการดูแลรักษาที่เราไม่รู้จักว่า แพทย์ทางเลือก (alternative medicine) การรักษาเด็กแต่ละคนอย่างไรย่อมเป็นความสมัครใจของผู้ปกครอง ว่าเชื่อถือการแพทย์แบบใด โดยทั่วไปหากเด็กป่วยเป็นมะเร็งชนิดที่เรารู้กันว่าอาจจะรักษาให้หายขาดได้ เราก็จะเสนอว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ร่วมกับการผ่าตัดและฉายรังสี (ถ้าจำเป็น) น่าจะเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณาก่อน เพราะรู้แน่ว่าเด็กบางคนหายขาดได้จริง ๆ แม้ว่าจะต้องอดทนเจ็บตัวกับการฉีดยา และความเสี่ยงอันเกิดจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด

แต่หากเป็นมะเร็งชนิดที่รักษายาก หรือแม้เป็นมะเร็งที่รักษาได้แต่โรคมะเร็งเกิดกำเริบขึ้นมาใหม่ระหว่างรักษาอยู่หรือหยุดยาเคมีบำบัดแล้ว ก็เป็นสัญญานที่บอกว่าการให้ยาเคมีบำบัดต่อไปจะไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อยไม่คุ้มกับผลข้างเคียง ค่าใช้จ่าย หรือความเจ็บตัวที่เด็กจะต้องทน แต่ยาดี ๆ ก็คงจะมีอีกมากมายในโลกนี้ที่หมอเราไม่รู้จัก จึงไม่สามารถแนะนำได้ หากผู้ปกครอง หรือคนรู้จักแนะนำมา และผู้ปกครองเชื่อถือ ก็อาจเลือกที่จะลองให้เด็กทาน หมอแผนปัจจุบันอย่างเราก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าจะได้ผลหรือไม่ หากว่าดีก็จะได้รู้ไว้แนะนำครอบครัวอื่นต่อไป แต่หมอแผนปัจจุบันบางคนก็ไม่อยากรู้

ระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แพทย์มักแนะนำมิให้ทานยาสมุนไพรหรืออาหารอื่นร่วม เพียงเพราะเหตุผลที่ว่า ยาหรืออาหารเหล่านั้น อาจทำไม่สะอาด และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อรา หรือเชื้อโรคอื่นที่มากับพืชหรืออาหาร เนื่องจากยาเคมีบำบัดจะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง ติดเชื้อง่าย

รองศาสตราจารย์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อิศรางค์ นุชประยูร

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22 พ.ค. 2561, 20:15
7908