ค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็ง

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในปัจจุบันสามารถรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. โดยหากเด็กมีสิทธิในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิว่าง แพทย์ผู้รักษาจะทำการลงทะเบียนในโครงการ ‘leukemia-lymphoma’ ของ สปสช. และโรงพยาบาลที่ให้การรักษาจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ได้โดยตรง เด็กสามารถได้รับการรักษามะเร็งในปีแรกโดยผู้ปกครองไม่ต้องขอใบส่งตัวจากสถานพยาบาลต้นสังกัด

อย่างไรก็ดี การรักษาอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งอาจจำเป็นต้องขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดเพื่อสามารถรักษาที่โรงพยาบาลได้ ในกรณีการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL จะต้องต่อเนื่องถึง 3 ปี ในปีที่สองก็อาจจำเป็นต้องขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดเพื่อให้การรักษา อย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลที่เริ่มให้การรักษา

การรักษามะเร็งในเด็กชนิด ALL ให้หายขาด ใช้ยาเคมีบำบัด ยาปฏิชีวนะ เลือดและเกล็ดเลือด และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างอยู่โรงพยาบาล มีต้นทุนโดยเฉลี่ยประมาณ 300,000 บาท แม้ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ก็ยังเป็นภาระของครอบครัวและผู้ปกครองอีกตลอด 1-3 ปีของการรักษา ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรวางแผนการใช้จ่าย ไม่ทุ่มเทมากเกินไปในการรักษาช่วงแรก

การให้ยาเคมีบำบัดในโครงการ leukemia-lymphoma นี้ เป็นการรักษาที่ได้คิดขึ้นมาแล้วว่า จะทำให้เด็กได้มีโอกาสรักษาหายขาดสูงที่สุดในการรักษาตั้งแต่ครั้งแรก การรักษามะเร็งเด็กไม่มียาวิเศษหรือยาราคาแพงที่ดีไปกว่าการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ผู้ปกครองจึงไม่พึงกังวลว่าการรักษาฟรีอาจจะได้ยาที่ไม่ดี เพราะหมอโรคมะเร็งเด็กเรามีความภูมิใจที่สามารถต่อรองให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยยอมลงทุนเพื่อการรักษาโรคมะเร็งที่ควรจะรักษาหายได้เหมือนกันหมดทั้งประเทศไทย โดยไม่เลือกความสามารถในการจ่ายของผู้ปกครอง ได้สำเร็จ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งเด็กทุกคน จะแนะนำสูตรการรักษาที่ดีที่สุดที่จะทำให้โรคมะเร็งมีโอกาสหายขาดตั้งแต่ครั้งแรก อย่างไรก็ดี การรักษาบางอย่างอาจเบิกไม่ได้จากระบบสาธารณสุข เช่นการใส่อุปกรณ์ (port) เพื่อช่วยให้ฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำสะดวกขึ้น ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้ในเด็กบางคนที่หาเส้นเลือดยาก ซึ่งกระบวนการรักษาเหล่านี้ไม่ทำให้โอกาสหายขาดเพิ่มขึ้น แต่อาจลดการเจ็บตัวและความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงลงบ้าง แต่มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่จำเป็นต้องใช้สำหรับเด็กทุกคน

รองศาสตราจารย์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อิศรางค์ นุชประยูร

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22 พ.ค. 2561, 20:15
15887